วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เป็นเรื่องง่ายเลยที่จะโกหกด้วยหลักการทางสถิติ (ทำโพลล์) แต่ก็ดูจะง่ายกว่าถ้าจะไม่ใช้มันเลย

โพลล์ หรือที่เรียกว่า ผลสำรวจความคิดเห็น กลับมาเป็นข่าวฮือฮาระดับ Talk of the Town อีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า ผู้สมัครผู้ว่า กทม.ไปร้องเรียนต่อ กกต. ว่า โพลล์ที่ทำออกมาในช่วงนี้มีลักษณะเป็นการชี้นำ  ทางด้าน “สวนดุสิตโพลล์”  แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  ก็ยอมรับว่าได้เคยรับการว่าจ้างจากฝ่าย​การ​เมือง ​เคยรับจ้างรัฐบาล กระทรวงหน่วยงานต่างๆ ให้ทำโพลล์ รวมทั้งจัด​เวที​เสวนาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ต่อมาก็ได้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตท่านหนึ่งประกาศลาออกจากนายกสภามหาวิทยาลัยเพราะเห็นว่า สวนดุสิตโพลล์นั้น ทำโพลล์โดย​ไม่คำนึง​ถึงจริยธรรม

โพลล์ หรือ การสำรวจความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ของประชาชนในเมืองไทยเริ่มถูกจับตามองมากขึ้นในห้วงเวลาไม่กี่ปีมานี้เอง  โดยเฉพาะในช่วงของการเลือกตั้งต่างๆ มักมีโพลล์สำรวจกันจนเกร่อ อย่างคลางแคลงสงสัย...?
แต่ในสังคมที่พัฒนาแล้ว โพลล์ส่วนใหญ่มักจะมีความแม่นยำ เที่ยงตรงสูง และไม่เป็นการชี้นำประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจนเกินไปนัก เนื่องจากวิธีการทำโพลล์ (Methodology) เอง และสติปัญญา (Wisdom) ของประชาชนของประเทศนั้นเองก้ด้วย  เขาจึงมักไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนบางประเทศ 

โพลล์ กับ การวิจัย มีความแตกต่างกันหลายอย่าง  เพราะโพลล์อาจไม่ต้องรับผิดชอบในบางกระบวนการจัดทำ  เช่น การออกแบบแบบสอบถาม (Questionnaire) อาจทำเพียงแค่ให้ผู้รอบรู้ช่วยตรวจสอบความเหมาะสมของการตั้งคำถาม หรือวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็น “ตัวแทนของประชากร” ในการทำโพลล์ก็อาจไม่เข้มงวดนัก เช่น ใช้วิธีการโทรศัพท์ไปสอบถามตามบ้านแทน บ้างก็ให้นักศึกษาออกไปสอบถามตามย่านการค้า ซึ่งอาจไม่ได้เป็น “ตัวแทนของประชากร” ที่ต้องการศึกษาอย่างแท้จริงก็เป็นได้ 
โพลล์มักจะไม่มีเรื่องของความรับผิดชอบในด้านจริยธรรมของนักวิจัย (โดยอ้างว่าเป็นโพลล์ เพียงแค่เป็นสำรวจความคิดเห็น)  เมื่อโพลล์ไม่ได้ลงลึกไปในบางกระบวนการของระเบียบวิธีวิจัยแล้ว ย่อมส่งผลให้โพลล์ขาดความน่าเชื่อถือขึ้นมาได้
เนื่องจากวิธีการทำโพลล์มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบการสำรวจความคิดเห็น การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การแปลผล ไปจนถึงการเผยแพร่ผลโพลล์ ทุกขั้นตอนอาจมี “ความคลาดเคลื่อน” ได้  ดังนั้น โพลล์ทุกสำนักซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกัน บางสำนักอาจไม่เข้มงวดในบางขั้นตอน ย่อมทำให้ข้อมูลบางอย่างหลุดรอดไปจากการควบคุม จึงอาจทำให้เกิดมี “ความคลาดเคลื่อน” ไปจากความถูกต้องอย่างง่ายดาย
กล่าวกันในหมู่นักวิชาการว่า การโกหกด้วยวิธีการในทางสถิตินั้นทำได้ง่าย และอาจง่ายกว่า....การลอกวิทยานิพนธ์เสียด้วยซ้ำไป
ชื่อเสียงของทุกๆ สำนักวิจัย จึงขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของระเบียบวิธีวิจัย (Methodology) หากปล่อยปละละเลยย่อมสะท้อนไปถึงชื่อเสียงในภาพรวมของมหาวิทยาลัยที่สังกัดอยู่นั้นด้วย ยิ่งบางสำนักวิจัยอาจทำตัวเป็น "มือปืนรับจ้าง" อยู่กับการถูกว่าจ้างให้ทำโพลล์และผลประโยชน์ของผู้ว่าจ้าง ประชาชนก็ยิ่งต้องระมัดระวังในการรับฟังพิจารณาข้อมูลโพลล์นั้นๆ
ประเด็นจริยธรรมของการทำโพลล์หรือการวิจัยจึงเป็นความรับผิดชอบลำดับแรกๆ ที่สำนักวิจัยต่างๆ ของเมืองไทยที่พึงมี

แต่สิ่งที่เหมือนๆ กันโดยหลักๆ ของโพลล์และการวิจัย (สำรวจความคิดเห็น) คือ เป็นการเปิดเผยความลี้ลับ ความคลุมเครือที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจของประชาชนเหล่านั้นให้เห็นว่า ความคิดเห็นส่วนใหญ่และส่วนน้อยคิดเห็นเป็นอย่างไร โดยนับเป็นจำนวนตัวเลขของแต่ประเด็นการสำรวจความคิดเห็นนั้นได้เท่าไร และแปลความออกมาว่าอย่างไร

เช่นว่า ผู้สมัครเลือกตั้งหมายเลข .... มีคะแนนความนิยมนำหน้า ผู้สมัครเลือกตั้งหมายเลข ....  อยู่ร้อยละเท่าไร ฯลฯ

โพลล์ในสมัยนี้จึงเป็น “เครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด เรียบง่ายที่สุด และปฏิวัติวงการมากที่สุด”  หรือที่เรียกกันว่า "โพลล์ชี้นำ" อย่างที่กำลังเป็นข่าวในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะนี้

แต่เดิมนานมาแล้ว ประเทศที่เป็นต้นแบบของการสำรวจทำวิจัยนั้น ได้มีการนำการวิจัยและผลการวิจัยเข้ามาเพื่อใช้วางวางรากฐานของการพัฒนาประเทศ จึงทำให้รัฐบาลของเขาเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ เพราะได้อาศัยข้อมูลการวิเคราะห์วิจัยอย่างรอบคอบ ถูกต้องตามหลักการทางสถิติ
ตัวอย่างเช่น ใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกษตรกรของตนทำการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ชนิดใดในแต่ละรอบปี เพื่อวางแผนว่าจะแปรรูปผลผลิตเหล่านั้นอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้กำไร หรือ นักอุทกศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินสร้างแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น

เรื่องทำโพลล์ก็คงแตกต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ ที่ยังมะงุมมะงาหรากับการตัดสินใจที่ไร้ทิศทางนโยบาย เพราะมัวแต่หาผลประโยชน์ใส่ตัว ยิ่งพัฒนากลับยิ่งทำให้ประชาชนหลงทางกันตกขอบ หนำซ้ำยังใช้ข้อมูลการสำรวจผลกระทบด้านต่างๆ หรือการทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นขึ้นมาเพื่อตบตาหลอกลวงประชาชน 

รัฐบาลและนักวิชาการในบางกระทรวงของบางประเทศจึงทำโพลล์ เพื่อสนับสนุนคำพูดของ Frederick Mosteller (1916 – 2006) เป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และสิถิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่กล่าวว่า

“It’s easy to lie with statistics, but easier to lie without them” …
“เป็นเรื่องง่ายเลยที่จะโกหกด้วยหลักการทางสถิติ (ทำโพลล์) แต่ก็ดูจะง่ายกว่าถ้าจะไม่ใช้มันเลย”

หลายประเทศในโลกนี้เจริญขึ้นได้ด้วยการทำสถิติ (วิจัย)  แต่มีบางประเทศยากจนและวิบัติก็เพราะ .. “การทำโพลล์”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น