วีระ สมความคิด
เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.)
ตามที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ เพื่อเผยแพร่ให้มีการพิจารณาให้ข้อคิดเห็น เพื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาในขั้นตอนการแปรญัตติก่อนที่จะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความสมบูรณ์สำหรับให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้ออกเสียงประชามติต่อไปนั้น. เมื่อมาพิจารณาถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วจะพบว่าต้องการที่จะแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมการดำเนินการทางการเมืองที่ขาดความโปร่งใส ไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว และการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงมีสาระสำคัญที่มุ่งจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการใน ๔ แนวทางด้วยกัน คือ
๑. การคุ้มครอง ส่งเสริม และการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่
๒. การลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม
๓. การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรมและจริยธรรม
๔. การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่จากการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วไม่พบว่ามีมาตราใดหรือส่วนใดที่แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส ขาดคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่มีระบุอยู่ในสาระสำคัญที่มุ่งจะแก้ไข แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจและไม่จริงจังของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้งที่มี “วรรคทอง” เป็นจุดขายทางการตลาดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ว่า “เพิ่มอำนาจประชาชน ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ” (ความจริงอำนาจรัฐไม่ได้ลดลง แต่แบ่งไปให้กลุ่มขุนนาง ราชการ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตยาธิปไตย) ที่ต้องการลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การอ้างเหตุผลของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ บางท่านว่ากลัวประชาชนจะพากันแจ้งเรื่องร้องเรียนจนราชการไม่เป็นอันทำงานนั้น เป็นเหตุผลที่ไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากประชาชนที่จะมีความรู้ความสามารถและมีความกล้าลุกขึ้นมาตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้นั้นไม่ได้มีจำนวนมากนักหรอก และการกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะลุกขึ้นมากลั่นแกล้งใส่ความกันได้อย่างง่ายๆ หากมีการกลั่นแกล้งใส่ความอย่างไม่เป็นธรรม ก็มีกฎหมายที่จะให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกลั่นแกล้งใส่ความเท็จอยู่แล้ว หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่การช่วยกันลดการผูกขาดอำนาจรัฐและการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแล้วจึงจะยืนยันให้เห็นถึงการเพิ่มอำนาจประชาชน ลดการผูกขาดอำนาจรัฐอย่างแท้จริง กระบวนการใช้อำนาจของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง ต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาในรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช ๒๕๔๐ มีบัญญัติให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ไว้ในหมวด ๔ ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามมาตรา ๗๖ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการยอมรับของทางราชการในการให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทั้งหลายมีหลักประกันให้มั่นใจได้ว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะให้ประชาชนมีหลักประกันจากอำนาจที่มีอย่างเพียงพอในการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) จึงขอเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา ๒๖ ขอให้เพิ่มวรรคสอง ว่า “การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ให้ถือเป็นสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง”
ประเทศไทย มีปัญหาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยยังไม่เกิดขึ้นจริงและฝังรากลึกพอที่จะหลักสำหรับการปกครองของสังคมไทย เรามักเข้าใจว่าหลังจากที่คณะราษฎรทำการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ คือเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย แต่ความจริงแล้วรัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือรักษาระบอบการปกครองที่เป็นจริงอยู่ในขณะนั้น.
พรรคการเมืองไทย ไม่มีลักษณะเป็นพรรคมวลชนจึงไม่มีพลังพอที่จะทำภารกิจสร้างประชาธิปไตยและแก้ปัญหาของชาติได้สำเร็จ ทำได้เพียงส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น จึงทำให้เกิดรัฐประหารมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งผลัดเปลี่ยนกันมาบริหารประเทศได้อย่างเก่งที่สุดไม่เกิน ๑๕ ปี ก็จะเกิดวิกฤติหรือทางตันทางการเมือง ก็จะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกเป็นอยู่เช่นนี้โดยตลอด ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง เกิดการชะงักงัน และเป็นสาเหตุของปัญหาความยากจนของคนในชาติ.
ตราบใดที่ยังไม่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ปัญหาสำคัญของชาติต่างๆเช่นปัญหาความยากจน เป็นต้น ก็ไม่มีทางแก้ไขได้สำเร็จ ถึงแม้จะมีรัฐบาลที่มีความสามารถสูงเพียงใดก็ตาม
รัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ จัดว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีองค์กรอิสระต่างๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เมื่อมีบทบัญญัติใหม่เพิ่มขึ้น ย่อมมีปัญหาในการปฏิบัติ เช่น การตีความ การไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงเกิดความขัดแย้ง สับสน และละเมิดรัฐธรรมนูญมากมายทั้งส่วนราชการ ศาล องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนักการเมือง พรรคการเมือง รวมทั้งประชาชน
ดร.อนันต์ บูรณวนิช ประธานองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) กล่าวว่า ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเหตุแห่งความยากจน ความไม่เป็นธรรมในสังคม และความขัดแย้งขยายเพิ่มมากขึ้นในองค์กรต่างๆ และเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมือง
นายชัยชนะ หมายงาม สมาชิกองค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) ประจำจังหวัดสระแก้ว เห็นว่าการใช้อำนาจรัฐตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติส่วนใหญ่ ไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นเหตุให้ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ถูกอิทธิพลอำนาจมืดรังแกอยู่ทุกหนทุกแห่ง อำนาจรัฐไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ “เมื่อการใช้อำนาจอธิปไตยไม่เป็นของประชาชนโดยประชาชนแล้ว ปัญหาอื่นๆจะเกิดต่อเนื่อง เช่น ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ขาดความเสมอภาค กฎหมายไม่เป็นประชาธิปไตย จำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ขาดความเสมอภาคด้านโอกาส เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ดังนั้น สังคมไทยยังห่างไกลความเป็นประชาธิปไตยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กรอิสระที่รัฐตั้งขึ้นมา เช่น กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตรวจสอบกันเอง รัฐตรวจสอบรัฐ ที่ผ่านมาจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าการตรวจสอบต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ”
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีประชาชนเข้าไปมีบทบาทในการตรวจสอบด้วย เช่น องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) เพราะประชาชนในพื้นที่ย่อมรู้ดีว่า ข้าราชการ พนักงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุจริตคอร์รัปชัน บริหารงานด้วยความโปร่งใสหรือไม่
“การเลือกตั้งผู้แทนฯ แต่ละครั้งมีการทุจริต ผู้นำหมู่บ้านรู้ทั้งนั้น แต่ไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบจึงเป็นความหวังว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ จะเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
-
องค์การไม่แสวงหาผลกำไร (อังกฤษ: nonprofit organisation หรือย่อว่า NPO) เป็นชื่อเรียกองค์การที่มีจุดมุ่งหมายสนับสนุนกลุ่มที่มีความคิดเห็...
-
ทุกวันนี้ผมยังคงคิดว่าฟุตบาทมันเป็นของส่วนบุคคล โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจคอยดูแลเก็บค่าที่อยู่ ซึ่งเราจะไประเมิดความเป็นส่วนบุคคลเขาไม่...
-
30 ปีโศกนาฏกรรม'โภปาล' ก๊าซที่รั่วไหลเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2527 จากบริษัทยูเนียน คาร์ไบด์ ซึ่งเป็นโรงงานของสหรัฐ ส่งผลให้เกิดภัย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น