วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

บรรยายความเลวร้าย ของ พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับ


คุณณรงค์ โชควัฒนา บรรยายความเลวร้าย ของ พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับ
สาระของกฎหมาย ๑๑ ฉบับเป็นหนังสือแสดงเจตจำนง (LOC) ที่ลูกหนี้ถูกบังคับให้เขียนเองเพื่อให้ IMF พอใจ
โดยมี Side Letter ที่เป็นหนังสือประกอบอีกหลายฉบับที่เป็นความลับ คนไทยไม่มีโอกาสรู้นอกจาก รัฐมนตรี
เปรียบเทียบก็เสมือนเป็นการให้เราฆ่าตัวตายโดยการขายทรัพย์สินถูกๆ เพื่อใช้หนี้ต่างประเทศ
สาระสำคัญ ๔ ประการของ พ.ร.บ. ๑๑ ฉบับ ที่ไม่ได้ดูผลประโยชน์ของคนไทยมีดังนี้
๑. เรื่องการซื้อขายที่ดิน คนต่างชาติมีสิทธิ์ซื้อคอนโดฯ และมีสิทธิ์เช่าที่ระยะเวลานาน ๕๐ ปี ต่อสัญญาได้อีกครั้งไม่เกิน ๕๐ ปี หากมีเงิน ๒๕ ล้าน ก็สามารถซื้อที่ดินได้ ๑ ไร่
๒. เรื่องอาชีพ ประเทศไทยเคยมีกฎหมายคุ้มครองสงวนอาชีพบางอาชีพให้คนไทย เนื่องจากสังคมไทยนั้น คนไทยบางคนก็อยู่ในสภาพที่ยังอ่อนแอ
อาทิ การค้าขายปลีก อาชีพนี้ ไม่ต้องใช้ความรู้ไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมาก
แต่รัฐบาลก็กลับอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกรรมค้าปลีกได้
ในหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น จะมีการวางกฎระเบียบบังคับให้ศูนย์การค้าปฏิบัติเช่นให้หยุด ๑ วัน ใน ๑ อาทิตย์ ให้ตั้งห่างจากร้านค้าปลีก รวมถึงการกำหนดสัดส่วนระหว่างกัน
ณ วันนี้ เรามีศูนย์การค้าต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ ฯลฯ ร้านขายปลีกของคนไทย กำลังทยอยเจ๊งปิดไปเรื่อยๆ
คนอ่อนแอ กำลังถูกคนแข็งแรงข่มเหงรังแก
Modern Trade เป็นระบบการค้าสมัยใหม่ที่ขายของเยอะก็จริงแต่ใช้คนให้น้อย พึ่งเทคโนโลยีให้มาก
การค้าวิธีการนี้ เหมาะกับประเทศที่ไม่มีแรงงาน ซึ่งไม่ใช่ในประเทศไทย เรายังไม่ถึงเวลา
๓. พ.ร.บ. ทุนวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจที่เป็นของรัฐบาลทั้งหมดจะแปลงเงินทุนให้เป็นหุ้น ให้กระทรวงการคลังศึกษาแล้วแปรรูปขายให้ต่างชาติ
เราเอาธุรกิจผูกขาดไปขายให้ต่างชาติทั้งหมด
ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ หลายประเทศ แก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ หนี้ยังไม่ลด มีแต่เพิ่ม และคนตกงาน มากขึ้น
และการแห่ขายในสถานการณ์ขณะนี้จะได้ราคาดีอย่างไร มันก็เหมือนการขายเลหลัง!
๔. เรื่อง พ.ร.บ. คดีทางแพ่ง กฎหมายล้มละลายมีการแก้ไขเพื่อให้ฟ้องได้เร็วขึ้น ยึดทรัพย์ได้รวดเร็วขึ้น
คดีมโนสาเร่ ที่ศาลตัดสินได้เร็วก็ได้ปรับเพิ่มขยายวงเงินฟ้องให้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้เรียกกฎหมายขายชาติ เพราะเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาเพื่อคนต่างชาติโดยแท้!!!
(หมายเหตุ บรรยายเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ณ พุทธสถานศาลีอโศก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น