วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

"วรงค์" ยก 3 ข้อถาม "ยิ่งลักษณ์"


"วรงค์" ยก 3 ข้อถาม "ยิ่งลักษณ์" โดนฟ้องในคดีจำนำข้าว ปล่อยปละละเลย เกิดความเสียหาย พร้อมขอให้ฝ่าย "ปู" ยุติวิจารณ์ศาลเช่นกัน...
เมื่อวันที่ 20 มี.ค.58
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเพิ่งกลับจากการศึกษาดูงานที่ประเทศจีน ทราบข่าวว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองรับฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีจำนำข้าว จึงมีข้อสังเกตคือ
1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงพยายามวนเวียนอยู่เรื่องเดิมๆ คือ ยืนยันทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ตามรัฐธรรมนูญ อ้างชาวบ้านโหวตให้ทำตามนโยบายเพื่อให้กลไกตลาดเป็นธรรม ต้องการช่วยชาวนา ซึ่งไม่มีใครว่า แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะความเสียหายเกิดจากการทุจริต ส่วนข้าวเน่าข้าวเสียอีกต่างหาก
2.ที่ย้ำว่าไม่มีพยานหลักฐานว่าดิฉันกระทำการทุจริตหรือสมยอมให้ผู้ใดทุจริต ซึ่งตนเข้าใจว่า ก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาไม่ได้กล่าวหาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์โกงเอง หรือสมยอมให้โกง เพียงแต่ทำไมจึงปล่อยปละละเลยให้โกง และเกิดความเสียหายมากกว่าย้อนศร
3.ที่มีการเรียกร้องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์คือ "ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้โปรดยุติการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ จนกว่ากระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ จะเสร็จสิ้น" ตนขอสนับสนุนแนวความคิดนี้ ตลอดจนการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพียงแต่ว่าการยุติการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ให้รวมถึงฟากฝั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายอื่น และที่สำคัญต้องยอมรับคำตัดสินของศาลเหมือนประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ใช่ศาลตัดสินถูกใจก็ขอบคุณความเป็นธรรมจากศาลที่ยังมีศาลเป็นที่พึ่ง แต่ถ้าผลการตัดสินไม่ถูกใจก็กล่าวหาว่าศาลสองมาตรฐาน.


http://www.thairath.co.th/content/488092

คดีจำนำข้าว : คดีประวัติศาสตร์



บทความ อ.แก้วสรร

คดีจำนำข้าว : คดีประวัติศาสตร์
“คดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่กล่าวหาดิฉันนี้ เป็นนโยบายที่ประชาชนได้มอบหมายมาเป็น “ฉันทามติ” ที่ต้องการให้ “กลไกตลาด”เป็นธรรมสะท้อนความเป็นจริงและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา เพราะที่ผ่านมาชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตในตลาดได้ การกำหนดราคาตกอยู่ในมือผู้ซื้อโดยสิ้นเชิง
คดีนี้จึงเป็นคดีที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเกษตรกรและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีผลต่อบรรทัดฐานและการตัดสินใจในการจัดทำนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนในอนาคต..”
โพสต์ลงเฟซบุ๊กในนาม“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘
คำกล่าวในนามคุณยิ่งลักษณ์ ที่คนอื่นเขียนให้ข้างต้นนี้ ผมอ่านแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นคดีสำคัญที่จะมีผลต่อเสรีภาพในการจัดทำนโยบายของรัฐเป็นอันมาก ศาลท่านจะตัดสินจนลงเอยเช่นใดก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์มาอธิบายให้ชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิดที่ตรงไหนเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน
เฉพาะประเด็นที่อ้างเอาความเป็น“ฉันทามติ” ของประชาชนที่คิดว่าตนได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ดูคุณยิ่งลักษณ์จะอ้างให้เป็นเช่นเอกสิทธิ์กันไปเลยว่า อะไรที่เสนอเป็นนโยบายเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งย่อมศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายเอาผิดอะไรไม่ได้ไปโน่นเลย
ความคิดที่ถือเอาหีบเลือกตั้งเป็นกฎหมายสูงสุดนี้ สุดที่นักกฎหมายอย่างผมจะยอมรับได้ จึงขอท้วงติงไว้บ้างในทำนองปุจฉา – วิสัชนา ไปโดยลำดับดังนี้
ถามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนี่ทำกันมาหลายรัฐบาลแล้ว ทำไมมาโดนฟ้องเป็นเรื่องเป็นราวกันในสมัยนายกฯปู นี้เท่านั้น จะเอากันให้ตายให้ได้หรืออย่างไร
ตอบรัฐบาลก่อนๆเขารับจำนำจริงๆ เพื่อพยุงราคาข้าวในตลาดจริงๆ ไม่ใช่เข้าไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในตลาดอย่างรัฐบาลนายกฯปู ซึ่งตรงนี้มันทำไม่ได้
ถามเขาประกาศว่ารับจำนำ..ไม่ใช่รับซื้อ เอาอะไรมาอ้างว่าเขาทำไม่ได้
ตอบข้าวเปลือกในตลาดราคาไม่มีทางถึงเกวียนละ ๑ หมื่น ไปประกาศรับจำนำทุกเมล็ดในราคาสูงลิบถึงหมื่นห้าพัน อย่างนี้มันไม่ใช่รับจำนำแล้วมันเป็นการมุ่งรับซื้อทุกเมล็ดทั่วประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่มันทำไม่ได้เพราะมีรัฐธรรมนูญกำหนดแนวทางให้ทุกรัฐบาลต้องยึดถือไว้ดังนี้
รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
มาตรา ๗๕ บทบัญญัติในหมวดนี้ เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการ ตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา ๗๖ คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อ
แสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
มาตรา ๘๔ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
(๘)คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
ถามแนวนโยบายเศรษฐกิจ ๒ ข้อนี้ มันบอกอะไรได้
ตอบมาตรา ๘๔(๑) มันบอกว่ารัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไกการตลาด คือถ้าไม่ใช่เรื่องรักษาความมั่นคง รักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือให้บริการสาธารณะแล้ว รัฐอย่าเข้าไปประกอบการใดๆ การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้หน่วยงานไปซื้อข้าวทั้งประเทศจึงเป็นนโยบายเถื่อนที่กฎหมายไม่รับรอง
ถามก็เขาบอกแล้วว่าเข้าไปช่วยให้กลไกตลาด เป็นธรรมต่อชาวนา
ตอบมาตรา ๘๔(๘) เขาให้คุณดูแลประโยชน์ชาวนาในตลาด โดยส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลตอบแทนสูงสุด เขียนอย่างนี้รัฐทำได้แค่ช่วยส่งเสริมราคาในตลาด คือรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดตามสมควรพอที่จะดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ทิ้งตลาดคือไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดแทนตลาดอย่างที่ทำไป จนการเงินการคลังของประเทศชิบหายกว่า ๗ แสนล้านเช่นทุกวันนี้
ถามรัฐบาลก่อนๆรับจำนำข้าว ก็ขาดทุนทางบัญชีเหมือนกัน
ตอบนั่นเขารับจำนำจริงๆ ทำเพื่อพยุงราคาตลาดเท่านั้น เป็นการทำในกรอบแนวนโยบายแห่งรัฐโดยชอบ จะขาดทุนทางบัญชีอย่างไรก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้าทำนอกกรอบโผล่เข้ามาผูกขาดตามความเป็นจริง ทุ่มตลาดรับซื้อข้าวในราคาสูงลิบลิ่วอย่างนี้ มันออกนอกหน้าที่ของรัฐ ออกนอกกรอบกฎหมายไปแล้ว ขาดทุนเท่าใดก็ถือเป็น “ค่าใช้จ่าย”ตามปกติธุระไม่ได้ ต้องถือเป็น“ความเสียหาย”ที่คนในรัฐบาลต้องรับผิดชอบ
ถามคดีจำนำข้าวรัฐบาลปูนี่ ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยกฟ้องไปแล้วไม่ใช่หรือ?
ตอบศาลท่านตัดสินแต่เพียงว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งระงับนโยบายใดของรัฐบาลได้ ท่านไม่ได้บอกว่านโยบายนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ถามถ้าทำนอกรัฐธรรมนูญ แล้วถือผลขาดทุนว่าเป็น “ความเสียหาย”ได้แล้วอย่างนี้ จะมีผลทางกฎหมายได้ต่อไปอย่างไร
ตอบเมื่อเกิด “ความเสียหาย”แล้ว ในทางแพ่งถ้าพิสูจน์ “ความรับผิด”ได้ต่อไปว่า มีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจหรือเลินเล่อร้ายแรง อย่างนี้คนในรัฐบาลก็ต้องรับผิดชดใช้ ”ค่าเสียหาย”เป็นแสนล้านได้
ตรงนี้ก็เห็นว่าในทางบริหารนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและความรับผิดกันแล้ว ส่วนพยานหลักฐานถือตามสำนวน ปปช.ก็พอแล้ว เหลือแต่ความกล้าของกรรมการเท่านั้นว่าพอไหม
ถามทำไมอาจารย์พูดอย่างนั้น
ตอบถ้าพวกเขากลับมาได้อีก ข้าราชการประจำที่ไปทำงานเอาผิดพวกชินวัตรจะต้องซวยสิ้นความก้าวหน้าในราชการแน่นอน ข้าราชการคลังที่ไปช่วยงาน คตส.โดนมาตลอดแล้ว
ถามแล้วในส่วนคดีอาญาของคุณยิ่งลักษณ์ต้องพิสูจน์อะไรอีก
ตอบ มาตรา ๑๕๗ จะลงโทษคนถึงติดคุกได้ ต้องมีความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ใช้อำนาจหรือละเว้นหน้าที่โดยจงใจกลั่นแกล้งให้ใครเขาเสียหาย หรือโดยทุจริต ตรงนี้เรายังไม่ทราบฐานคำฟ้องของอัยการและ ปปช.เขาว่า ฟ้องตามฐานใดด้วยพยานหลักฐานที่ฟังได้หรือไม่
ถามตรงนี้คือจุดชี้ขาดคดีอาญาคุณยิ่งลักษณ์
ตอบถูกต้องครับ เขาจะหนีหรือไม่หนีน่าจะต้องดูจุดชี้ขาดตรงนี้เป็นสำคัญ
ถามเธออาจยอมติดคุกแบบอองซานซูจีก็ได้
ตอบนี่เป็นคดีคอร์รัปชั่น คดีทำบ้านเมืองเสียหายเป็นเจ็ดแสนล้าน ถ้าพยานหลักฐานถึงติดคุกได้ก็สมควรแล้ว
คุณอย่าเอาคดีคุณยิ่งลักษณ์ไปเทียบกับการต่อสู้เผด็จการของอองซานซูจีเลย มันจะทำให้คุณซูจีเขาเสียหายเสียเกียรติภูมิอย่างร้ายแรงยิ่งทีเดียว

CR: BLUESKY Channel

อนาคต 'ยิ่งลักษณ์' ริบหรี่ !



อนาคต 'ยิ่งลักษณ์' ริบหรี่ !อนาคต 'ยิ่งลักษณ์' ริบหรี่ ! : 

โดย...สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

อนาคต “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ดูเหมือนจะยิ่งมืดมนมากขึ้น หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องเธอในคดีสืบเนื่องมาจาก “โครงการรับจำนำข้าว” โครงการสำคัญที่สุดของพรรคเพื่อไทย
ข้อหาของ “ยิ่งลักษณ์” คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
บทลงโทษ คือ จำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000- 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต้องไม่ลืมว่า นี่ไม่ใช่คดีแรกที่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกดำเนินการอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าว โครงการหนึ่งในบรรดาโครงการที่ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา เธอถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนด้วยคะแนนท่วมท้น 190-18 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ทำให้เธอกลายเป็น “นักการเมืองคนแรกที่ถูกถอดถอน” หลังจากที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ “เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย” โดยผลจากการถูกถอดถอนทำให้เธอถูกตัดสิทธิทางการเมืองทันที 5 ปี
ยังไม่จบแค่นั้น เพราะ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการยกร่างอยู่นี้ ล่าสุดได้วางเงื่อนไขที่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร ส.ส. และการเป็นรัฐมนตรี ว่า “เคยถูกถอดถอน” นั่นหมายความว่า ถ้ากติกานี้คลอดออกมาบังคับใช้ “ยิ่งลักษณ์” จะไม่สามารถกลับมาเล่นการเมืองได้อีก
สำหรับเงื่อนไขว่าผู้ที่เคยถูกถอดถอนไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.และเป็นรัฐมนตรีได้นี้ เป็นเงื่อนไขที่เคยถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นกัน
นอกจาก “ยิ่งลักษณ์” ที่จะขาดคุณสมบัติในการกลับมาเล่นการเมือง “ตลอดชีวิต” พี่ชายของเธอ คือ อดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็เช่นกัน โดยขาดคุณสมบัติเนื่องจากเคยถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
นอกจากนี้ “ยิ่งลักษณ์” ยังจะถูกฟ้องคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวด้วย โดยเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อให้ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจาก “ยิ่งลักษณ์” ด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ออกมาให้ความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย โดยบอกว่า กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทางแพ่ง “ยิ่งลักษณ์” ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกรวม 21 คน ในคดีระบายข้าวแบบจีทูจี
ทั้งนี้ คดีเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เผชิญอยู่นี้ คือ คดีถอดถอน คดีอาญา และคดีแพ่ง มีต้นทางมาจากที่เดียวกัน คือ ป.ป.ช.


http://www.komchadluek.net/detail/20150320/203281.html

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2558

“นายกรัฐมนตรี” เหน็บอย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนใส่ทั้งโลก


“นายกรัฐมนตรี” ปาฐกถาเปิดประชุม Wharton Global Forum Bangkok2015 ฝากสหรัฐเข้าใจสถานการณ์ไทย เหน็บอย่าตัดเสื้อตัวเดียวให้คนใส่ทั้งโลก

      ที่โรงแรมแชงกรี-ล่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมระดับโลก Wharton Global Forum Bangkok 2015 ว่า ฝากถึงทุกประเทศที่เดินทางมาเข้ามาประชุม โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้เข้าใจสถานการณ์ประเทศไทยว่าการแก้ปัญหาแต่ละที่ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกัน พร้อมเปรียบเหมือนสหรัฐจะตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งโลกใส่ไม่สามารถทำได้ แต่ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐจะทำให้คนทั้งโลกมีความสุข
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวย้ำถึงการเข้ามาควบคุมอำนาจของรัฐบาลว่า ไม่ได้ทำให้ใครเดือนร้อน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกเว้นพวกที่ทุจริตและอาจมีประชาชนบางส่วนที่ไม่เข้าใจ อีกทั้งตนจับพลัดจับพลูหกล้มขาหักมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ได้อยากเป็น แต่สถานการณ์โดยรวมขณะนี้ดีขึ้นเหมาะแก่การท่องเที่ยว
      พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรียอมรับว่าไทยถูกจับตามองจากทั่วโลกในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันอธิบาย และขอทุกประเทศที่จะมาลงทุนในไทยให้มองถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วย เพราะแต่ละประเทศไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพัง ต้องรวมตัวเป็นประชาคม เช่นเดียวกับภูมิภาคอาเซียนซึ่งไทยมียุทธศาสตร์สำคัญด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงการคมนาคมของภูมิภาค เช่นเดียวกับการบริหารในประเทศที่ยึดหลักตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจเข้าถึงพัฒนาและนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ขณะเดียวกันฝากประเทศที่มาประชุมวันนี้ช่วยเพิ่มราคาสินค้าเกษตร ให้กับไทยและอาเชียนด้วย
_________________________________
http://www.fahwonmai.tv/politics/1213336

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น


นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินสหกรณ์ว่า ไม่ได้มีการทำผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ซึ่งเงินที่นำมาบริจาคให้วัดพระธรรมกายจำนวน 386 ล้านบาท และบริจาคให้พระธัมมชโย 248 ล้านบาท เมื่อปี 2552-2553 เป็นเงินที่ยืมมาจากสหกรณ์โดยถูกต้องตามระเบียบสหกรณ์ทุกอย่าง และได้มีการคืนเงินดังกล่าวให้กับสหกรณ์แล้ว
นายศุภชัย กล่าวถึงเงินที่นำไปบริจาคให้พระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ว่า ไม่ได้นำไปบริจาคเพียงลำพัง ซึ่งเป็นการนำเช็คใส่ซองต่อแถวบริจาคเช่นเดียวกับสาธุชนทั่วไป และพระธัมมชโยเองก็ไม่ทราบจำนวนเงินดังกล่าว อีกทั้งการเป็นไวยาวัจกร หรือผู้ที่ทำกิจธุระแทนสงฆ์ ที่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินให้วัดก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นประธานสหกรณ์และไม่มีใครทราบเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ นายศุภชัย ได้ปฏิเสธจะตอบคำถามเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนคดีการยักยอกเงินสหกรณ์จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทให้กับอัยการ

http://www.fahwonmai.tv/economy/1213302

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ข้อความที่พล.ท.นันทเดชโพสต์ลงเฟซบุ๊ค


ข้อความที่พล.ท.นันทเดชโพสต์ลงเฟซบุ๊ค
ผ้าเหลืองเปื้อนกิเลส
ในเมื่อนักการเมืองยังต้องถูกตรวจสอบ เรื่องเงินทองได้ ดังนั้น พระซึ่งถือศิลมากกว่านักการเมือง
ถึงขนาดจับเงินไม่ได้ จึงควรถูกตรวจสอบยิ่งกว่านักการเมือง หลายสิบเท่า ใช่หรือไม่! ก็ไม่เข้าใจว่า แค่ถูกตรวจสอบเรื่องการเงิน เท่านั้น ทำไมพระบางคนถึงดิ้น เป็นกิ้งกือถูกขี้เถ้า ทีเดียว
พระบางกลุ่ม ประกาศจะออกมาชุมนุมต่อต้านการตรวจสอบ ใน12 มี.ค.58นี้ ก็รีบออกมาเลยครับ
จะได้รู้ว่าพระองค์เดิมๆที่เคยร่วมชุมนุม ที่ราชประสงค์,ไล่ทุบรถนายกฯที่มหาดไทย,ไล่ตีทหาร ฯลฯ ยังอยู่ดีหรือเปล่า ใครเป็นหัวหอกนำชุมนุม ก็จะได้ตรวจสอบไปทีเดียวเลย คราวนี้รับทุนมาจากพระใหญ่องค์ไหนละ ไปหลอกพระมาอย่างไร นอกจากนั้นพระที่ถูกหลอกมาร่วมชุมนุม ก็จะได้รู้ความจริงเสียทีว่า "ถูกหลอก" มา เพื่อช่วย. คนห่มผ้าเหลืองบางคนที่กำลังจะติดคุก
ออกมาชุมนุมเลยครับ อย่าทำให้ผ้าเหลืองเปื้อนกิเลสมากกว่านี้อีกเลย

http://www.naewna.com/politic/147384