วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

คดีจำนำข้าว : คดีประวัติศาสตร์



บทความ อ.แก้วสรร

คดีจำนำข้าว : คดีประวัติศาสตร์
“คดีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่กล่าวหาดิฉันนี้ เป็นนโยบายที่ประชาชนได้มอบหมายมาเป็น “ฉันทามติ” ที่ต้องการให้ “กลไกตลาด”เป็นธรรมสะท้อนความเป็นจริงและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา เพราะที่ผ่านมาชาวนาไม่สามารถกำหนดราคาผลผลิตในตลาดได้ การกำหนดราคาตกอยู่ในมือผู้ซื้อโดยสิ้นเชิง
คดีนี้จึงเป็นคดีที่จะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเกษตรกรและประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งยังมีผลต่อบรรทัดฐานและการตัดสินใจในการจัดทำนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนในอนาคต..”
โพสต์ลงเฟซบุ๊กในนาม“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘
คำกล่าวในนามคุณยิ่งลักษณ์ ที่คนอื่นเขียนให้ข้างต้นนี้ ผมอ่านแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นคดีสำคัญที่จะมีผลต่อเสรีภาพในการจัดทำนโยบายของรัฐเป็นอันมาก ศาลท่านจะตัดสินจนลงเอยเช่นใดก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์มาอธิบายให้ชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิดที่ตรงไหนเอาอะไรมาเป็นบรรทัดฐาน
เฉพาะประเด็นที่อ้างเอาความเป็น“ฉันทามติ” ของประชาชนที่คิดว่าตนได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ดูคุณยิ่งลักษณ์จะอ้างให้เป็นเช่นเอกสิทธิ์กันไปเลยว่า อะไรที่เสนอเป็นนโยบายเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งย่อมศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายเอาผิดอะไรไม่ได้ไปโน่นเลย
ความคิดที่ถือเอาหีบเลือกตั้งเป็นกฎหมายสูงสุดนี้ สุดที่นักกฎหมายอย่างผมจะยอมรับได้ จึงขอท้วงติงไว้บ้างในทำนองปุจฉา – วิสัชนา ไปโดยลำดับดังนี้
ถามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนี่ทำกันมาหลายรัฐบาลแล้ว ทำไมมาโดนฟ้องเป็นเรื่องเป็นราวกันในสมัยนายกฯปู นี้เท่านั้น จะเอากันให้ตายให้ได้หรืออย่างไร
ตอบรัฐบาลก่อนๆเขารับจำนำจริงๆ เพื่อพยุงราคาข้าวในตลาดจริงๆ ไม่ใช่เข้าไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในตลาดอย่างรัฐบาลนายกฯปู ซึ่งตรงนี้มันทำไม่ได้
ถามเขาประกาศว่ารับจำนำ..ไม่ใช่รับซื้อ เอาอะไรมาอ้างว่าเขาทำไม่ได้
ตอบข้าวเปลือกในตลาดราคาไม่มีทางถึงเกวียนละ ๑ หมื่น ไปประกาศรับจำนำทุกเมล็ดในราคาสูงลิบถึงหมื่นห้าพัน อย่างนี้มันไม่ใช่รับจำนำแล้วมันเป็นการมุ่งรับซื้อทุกเมล็ดทั่วประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ ที่มันทำไม่ได้เพราะมีรัฐธรรมนูญกำหนดแนวทางให้ทุกรัฐบาลต้องยึดถือไว้ดังนี้
รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
มาตรา ๗๕ บทบัญญัติในหมวดนี้ เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการ ตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน
มาตรา ๗๖ คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อ
แสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
มาตรา ๘๔ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้
(๑) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
(๘)คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรในการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรได้รับผลตอบแทนสูงสุด
ถามแนวนโยบายเศรษฐกิจ ๒ ข้อนี้ มันบอกอะไรได้
ตอบมาตรา ๘๔(๑) มันบอกว่ารัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไกการตลาด คือถ้าไม่ใช่เรื่องรักษาความมั่นคง รักษาประโยชน์ส่วนรวม หรือให้บริการสาธารณะแล้ว รัฐอย่าเข้าไปประกอบการใดๆ การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้หน่วยงานไปซื้อข้าวทั้งประเทศจึงเป็นนโยบายเถื่อนที่กฎหมายไม่รับรอง
ถามก็เขาบอกแล้วว่าเข้าไปช่วยให้กลไกตลาด เป็นธรรมต่อชาวนา
ตอบมาตรา ๘๔(๘) เขาให้คุณดูแลประโยชน์ชาวนาในตลาด โดยส่งเสริมให้ชาวนาได้ผลตอบแทนสูงสุด เขียนอย่างนี้รัฐทำได้แค่ช่วยส่งเสริมราคาในตลาด คือรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดตามสมควรพอที่จะดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ทิ้งตลาดคือไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดแทนตลาดอย่างที่ทำไป จนการเงินการคลังของประเทศชิบหายกว่า ๗ แสนล้านเช่นทุกวันนี้
ถามรัฐบาลก่อนๆรับจำนำข้าว ก็ขาดทุนทางบัญชีเหมือนกัน
ตอบนั่นเขารับจำนำจริงๆ ทำเพื่อพยุงราคาตลาดเท่านั้น เป็นการทำในกรอบแนวนโยบายแห่งรัฐโดยชอบ จะขาดทุนทางบัญชีอย่างไรก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ แต่ถ้าทำนอกกรอบโผล่เข้ามาผูกขาดตามความเป็นจริง ทุ่มตลาดรับซื้อข้าวในราคาสูงลิบลิ่วอย่างนี้ มันออกนอกหน้าที่ของรัฐ ออกนอกกรอบกฎหมายไปแล้ว ขาดทุนเท่าใดก็ถือเป็น “ค่าใช้จ่าย”ตามปกติธุระไม่ได้ ต้องถือเป็น“ความเสียหาย”ที่คนในรัฐบาลต้องรับผิดชอบ
ถามคดีจำนำข้าวรัฐบาลปูนี่ ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยกฟ้องไปแล้วไม่ใช่หรือ?
ตอบศาลท่านตัดสินแต่เพียงว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งระงับนโยบายใดของรัฐบาลได้ ท่านไม่ได้บอกว่านโยบายนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ถามถ้าทำนอกรัฐธรรมนูญ แล้วถือผลขาดทุนว่าเป็น “ความเสียหาย”ได้แล้วอย่างนี้ จะมีผลทางกฎหมายได้ต่อไปอย่างไร
ตอบเมื่อเกิด “ความเสียหาย”แล้ว ในทางแพ่งถ้าพิสูจน์ “ความรับผิด”ได้ต่อไปว่า มีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจหรือเลินเล่อร้ายแรง อย่างนี้คนในรัฐบาลก็ต้องรับผิดชดใช้ ”ค่าเสียหาย”เป็นแสนล้านได้
ตรงนี้ก็เห็นว่าในทางบริหารนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและความรับผิดกันแล้ว ส่วนพยานหลักฐานถือตามสำนวน ปปช.ก็พอแล้ว เหลือแต่ความกล้าของกรรมการเท่านั้นว่าพอไหม
ถามทำไมอาจารย์พูดอย่างนั้น
ตอบถ้าพวกเขากลับมาได้อีก ข้าราชการประจำที่ไปทำงานเอาผิดพวกชินวัตรจะต้องซวยสิ้นความก้าวหน้าในราชการแน่นอน ข้าราชการคลังที่ไปช่วยงาน คตส.โดนมาตลอดแล้ว
ถามแล้วในส่วนคดีอาญาของคุณยิ่งลักษณ์ต้องพิสูจน์อะไรอีก
ตอบ มาตรา ๑๕๗ จะลงโทษคนถึงติดคุกได้ ต้องมีความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ใช้อำนาจหรือละเว้นหน้าที่โดยจงใจกลั่นแกล้งให้ใครเขาเสียหาย หรือโดยทุจริต ตรงนี้เรายังไม่ทราบฐานคำฟ้องของอัยการและ ปปช.เขาว่า ฟ้องตามฐานใดด้วยพยานหลักฐานที่ฟังได้หรือไม่
ถามตรงนี้คือจุดชี้ขาดคดีอาญาคุณยิ่งลักษณ์
ตอบถูกต้องครับ เขาจะหนีหรือไม่หนีน่าจะต้องดูจุดชี้ขาดตรงนี้เป็นสำคัญ
ถามเธออาจยอมติดคุกแบบอองซานซูจีก็ได้
ตอบนี่เป็นคดีคอร์รัปชั่น คดีทำบ้านเมืองเสียหายเป็นเจ็ดแสนล้าน ถ้าพยานหลักฐานถึงติดคุกได้ก็สมควรแล้ว
คุณอย่าเอาคดีคุณยิ่งลักษณ์ไปเทียบกับการต่อสู้เผด็จการของอองซานซูจีเลย มันจะทำให้คุณซูจีเขาเสียหายเสียเกียรติภูมิอย่างร้ายแรงยิ่งทีเดียว

CR: BLUESKY Channel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น